เกิดอะไรขึ้นกับเวที Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 เมื่อ “My Mate Nate” ชนะรางวัล Best Creator Performance on Social Media แต่ค้านสายตาโลกออนไลน์
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด (WISESIGHT) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดและโซเชียลมีเดีย ได้จัดงานประกาศผลรางวัล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 เพื่อมอบรางวัลให้กับเหล่าคนในวงการโซเชียล และแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์
แต่มีหนึ่งในรางวัลที่กลายเป็นที่สงสัยของสังคม และตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และหลักเกณฑ์การเลือกมอบรางวัล นั่นคือรางวัล “Best Creator Performance on Social Media สาขา Variety” ซึ่งผู้ได้รับรางวัลสาขาดังกล่าวในครั้งนี้ คือ My Mate Nate (มายเมทเนท)
โดยหลังจากที่มีการโพสต์รางวัลดังกล่าว ผู้คนบนโลกโซเชียล ต่างตั้งคำถามไปยังงานดังกล่าวถึงหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการเลือกผู้เข้าชิงรางวัลและผู้ได้รับรางวัล เพราะหลาย ๆ คนมองว่า ยังมี Content Creator รายอื่น ๆ ที่มีความสามารถและมีความสร้างสรรค์ที่มากกว่า
ขณะเดียวกัน มีผู้คนบางส่วนบนโลกออนไลน์ ระบุว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่ คล้ายคลึงกับคอนเทนต์ของช่อง YouTube ในต่างประเทศช่องหนึ่ง นั่นคือ “MrBeast” ทั้งในเชิงเนื้อหา และองค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ
สำหรับช่อง MrBeast เป็นช่องยูทูบที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองและเนื้อหาสนุก ๆ ที่เน้นความลงทุนในเนื้อหาและอุปกรณ์ต่าง ๆ เริ่มเปิดช่องตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วราว 135 ล้านผู้ติดตาม และมีจำนวนการรับชมวิดีโอทั้งสิ้น 22,865,633,368 ครั้ง และมีการทำช่อง YouTube แยกออกมาอีก 4 ช่อง คือ Beast Philanthropy, MrBeast 2, MrBeast Gaming และ MrBeast Gaming ซึ่งช่องที่แยกออกมาเหล่านี้ มีผู้ติดตามรวมกันกว่า 84 ล้านผู้ติดตาม
สำหรับประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่มีการชี้แจงใด ๆ เพิ่มเติมจากทั้งผู้ได้รับรางวัลอย่าง My Mate Nate และ WISESIGHT ผู้จัดงานครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของงาน ได้มีการระบุถึงเกณฑ์การวัดผลสำหรับรางวัลต่าง ๆ ไว้ โดยจะวัดผลใน 3 รูปแบบ คือ
1. BRAND METRIC
ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดีย ของแบรนด์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยวัดจากช่องทางของตัวเอง (Own Channel) ออกมาเป็น Own Score และช่องทางจากการที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์ (Earn Channel) ออกมาเป็น Earn Score ผ่าน 4 แพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube ซึ่งในทุก ๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม
2. CONTENT METRIC
ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของเนื้อหารายการบันเทิงต่าง ๆ เช่น ละครไทย, ภาพยนตร์ไทย, รายการข่าว, รายการโทรทัศน์ โดยพิจารณาจากกระแสการพูดถึงของคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย จึงจะทำการวัดผลการคนพูดถึงรายการนั้น ๆ ผ่าน Earn Channel บนแพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และ TikTok ซึ่งในทุก ๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม
3. CREATOR METRIC
ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของบุคคลที่มีผลงานหรือมีชื่อเสียงอยู่บนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งดารา ศิลปิน ไอดอล พิธีกร และอินฟลูเอนเซอร์ โดยวัดผลคอนเทนต์บนช่องทางของตัวเอง (Own Channel) และจากการถูกพูดถึงหรืออ้างถึง (Earn Channel) บนแพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และ TikTok ซึ่งในทุก ๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม